โครงการ การเพิ่มมูลค่านวัตกรรมสิ่งทอในผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์จากฐานการผลิตจังหวัดน่านสู่ตลาดเมืองหลวงพระบาง

โครงการการเพิ่มมูลค่านวัตกรรมสิ่งทอในผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์จากฐานการผลิตจังหวัดน่านสู่ตลาดเมืองหลวงพระบางโดยความร่วมมือระหว่าง หน่วยปฏิบัติการวิจัยแฟชั่นและนฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ (FAC-RU) และ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก
คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.)

ความเป็นมาและความสำคัญ

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางในการสร้างสรรค์พัฒนานวัตกรรมการออกแบบสินค้าแฟชั่นสิ่งทอไลฟ์สไตล์ มุ่งเน้นเพื่อตอบสนองกับกลุ่มลูกค้าตลาดระดับบนที่เป็นนักท่องเที่ยวในหลวงพระบาง ผ่านการสร้างเครือข่ายคลัสเตอร์โดยใช้จังหวัดน่านเป็นฐานขององค์ความรู้ทางด้านการออกแบบ วัตถุดิบ กระบวนการผลิตสินค้าแฟชั่นสิ่งทอไลฟ์สไตล์ เพื่อส่งไปสู่จุดจัดจำหน่ายที่เป็นประตูการค้าสู่ตลาดระดับบน
ณ เมืองหลวงพระบาง
ทั้งนี้ผลจากการวิจัยในโครงการฯ ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมผ่านกระบวนการถ่ายทอดนวัตกรรมองค์ความรู้การพัฒนาการย้อมสีสิ่งทอธรรมชาติจากกากเมล็ดโกโก้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ที่ตอบสนองกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค ให้กับผู้ประกอบการด้านสิ่งทอในพื้นที่จังหวัดน่าน และเป็นแนวทางในการสร้างตราสินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ที่สอดรับกระแสแนวโน้มที่ผู้บริโภคหันมานิยมและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ผ่านการสร้างเครือข่ายให้กับผู้ประกอบการทั้งในจังหวัดน่านและหลวงพระบาง
ในโอกาสนี้ทางคณะผู้ดำเนินโครงการ ขอขอบพระคุณสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาการค้าหลวงพระบาง มหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ เจ้าเดวิท สมสนิท ผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งทอ กลุ่มผู้ประกอบการในจังหวัดน่าน และหลวงพระบาง
ทางคณะผู้ดำเนินโครงการมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลจากการวิจัยและการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ จะนำมาซึ่งต้นแบบแนวทางในการพัฒนานำองค์ความรู้จากการวิจัยไปประยุกต์ใช้ต่อยอดสู่การพัฒนาชุมชนและสังคม อันจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้และอาชีพให้กับชุมชนทั้ง 2 ประเทศ อีกทั้งเป็นการสร้างพันธมิตรในตลาดการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนร่วมกันอย่างยั่งยืน

คณะผู้วิจัย

  1. รองศาสตราจารย์ ดร.พัดชา อุทิศวรรณกุล
    คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิรีรัตน์ จารุจินดา
    คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  3. รองศาสตราจารย์ ดร. กาวี ศรีกูลกิจ
    คณะวิทยาศาสตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  4. ดร.ศิวรี อรัญนารถ
    คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    ผู้ช่วยวิจัย
  5. อ.จรัสพงษ์ วงศ์ศิลป์จิตดารา
    อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอและหัตถศิลป์หลวงพระบาง
  6. อ.สุระเกียรติ รัตนะอำนวยศิริ
  7. อ.ณภัทร หอมระเหย

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

  1. เพื่อสร้างสรรค์พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมสิ่งทอและการออกแบบให้มีศักยภาพเหมาะสมกับตลาดสินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ในระดับบน Highend เพื่อนำสู่เมืองหลวงพระบาง
    ในกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยว
  2. เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมสิ่งทอการย้อมสีธรรมชาติจากกากเมล็ดโกโก้
    และการออกแบบให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดน่านนำมาพัฒนาต่อยอดในการสร้างผลิตภัณฑ์
    ในกระแสนิยม
  3. เพื่อสร้างรูปแบบกลไกกระบวนการทำงานและกลุ่มเรือข่ายคลัสเตอร์ ให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดน่านมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานชุมชนมีรายได้และอาชีพอย่างยั่งยืน
    4.เพื่อหาแนวทางและกลไกการสร้างตราสินค้า (Branding) และออกแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์จากนวัตกรรมสิ่งทอย้อมสีธรรมชาติจากกากเมล็ดโกโก้ สำหรับตลาดระดับบน เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวเมืองหลวงพระบาง สู่ประตูเศรษฐกิจส่งเสริม
    การท่องเที่ยว ที่สามารถขยายสู่แนวทางการสร้างพันธมิตรในตลาดการค้าระหว่างประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และจังหวัดเชื่อมต่อพรมแดน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์

COCO ZERO WASTE

การเก็บข้อมูลภาคสนามจังหวัดน่าน

การเก็บข้อมูลภาคสนาม ณ เมืองหลวงพระบาง

การย้อมสีจากกากเมล็ดโกโก้

โกโก้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของจังหวัดน่าน มีการปลูกในรูปแบบออแกนิคส์ โดยเป็นพืชที่ให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ตลอดปี ทั้งนี้ในกระบวนการย้อมสีจากโกโก้นั้น ใช้วัตถุดิบหลักคือกากเมล็ดโกโก้ซึ่งเกิดจากกระบวนการแปรรูปโกโก้ ซึ่งถือเป็นเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สีย้อมธรรมชาติเป็นสีย้อมที่มีปัญหาเรื่องความคงทนของสีบนเส้นใย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยสารมอร์แดนท์เพื่อเปลี่ยนสีที่ละลายน้ำให้เป็นสีที่ไม่ละลายน้ำ หรือทำให้เฉดสีเข้มขึ้น การเพิ่มความเข้มของเฉดสีทำได้โดยการย้อมทับหลายๆครั้งตามต้องการ ดังนั้นการย้อมสีธรรมชาติจึงไม่ได้คำนึงถึงสัดส่วนของสีย้อมต่อน้ำหนักเส้นใย (% o.w.f)) หรือสัดส่วนน้ำย้อมต่อน้ำหนักเส้นใย (Liquor ratio) ในการทดลองนี้จะแสดงวิธีการย้อมฝ้ายด้วยน้ำสีย้อมสกัดจากเปลือกโกโก้ นำเปลือกโกโก้อบแห้งมาชั่งน้ำหนักประมาณ 100 กรัม จากนั้นนำไปต้มเพื่อสกัดสีย้อมซึ่งจะได้สีน้ำตาลอ่อนๆ ทำกรองเพื่อเอากากออก แล้วนำไจด้ายที่ผ่านการฟอกทำความสะอาดแล้วแล้วลงไปแช่อ่างสี บีบคั้นเพื่อให้สีดูดซึมเข้าเส้นใย หลังจากนั้นนำด้ายที่ผ่านการย้อมแล้วไปแช่ในอ่างน้ำปูนใส แล้วนำกลับมาย้อมอีกครั้ง ทำการย้อมสลับกับแช่น้ำปูนใสหลายๆครั้งก็จะได้เฉดสีเข้มชึ้นเรื่อยๆตามต้องการ เมื่อได้เฉดสีที่ต้องการแล้วจึงทำการล้างด้ายให้สะอาด แล้วนำไปผึ่งอากาศให้แห้ง

การสัมนาเชิงปฎิบัติการ

โครงการการเพิ่มมูลค่านวัตกรรมสิ่งทอในผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์จากฐานการผลิตจังหวัดน่านสู่ตลาดเมืองหลวงพระบาง ณ จังหวัดน่าน

วันที่ 19 กรกฎาคม 2562

ผลิตภัณฑ์โครงการ

การเพิ่มมูลค่านวัตกรรมสิ่งทอในผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์จากฐานการผลิตจังหวัดน่านสู่ตลาดเมืองหลวงพระบาง